วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การดำรงชีวิตของผีเสื้อ

การดำรงชีวิตของผีเสื้อ
ชีวิตของผีเสื้อเริ่มจาก ไข่ แล้วไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า ตัวแก้ว ต่อมาตัวแก้วจะหยุดกินอาหาร และไม่เคลื่อนไหว กลายสภาพเป็น ดักแด้ และในไม่ช้าดักแด้จะกลายสภาพเป็น ผีเสื้อ สีสวยเที่ยวบินว่อนอยู่ตามดงดอกไม้ ซึ่งเป็น ตัวเต็มวัย ชีวิตของผีเสื้อจึงแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ อย่างไรก็ดี เราไม่อาจบอกได้ว่า ชีวิตของผีเสื้อในแต่ละระยะคงอยู่เป็นเวลานานเท่าไร ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้เพราะระยะเวลาในแต่ละระยะของผีเสื้อแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป ไม่แน่นอน และยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องที่อีกด้วย แม้กระนั้น เคยมีนักวิชาการบันทึกไว้ว่า ผีเสื้อในเขตร้อนของโลกนั้น จะคงอยู่ในระยะของ ไข่ ราวแค่ 3 วันเท่านั้น ระยะ ตัวแก้ว เป็นเวลาถึง 8 วัน และระยะ ดักแด้ เป็นเวลาราว 7 วัน ดังนั้น กว่าผีเสื้อจะได้มีชีวิตบินร่อนไปร่อนมา เพื่อหาน้ำหวานจากดอกไม้ มันต้องใช้เวลารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 18 วัน นับจากเริ่มเป็นไข่
ส่วนในเขตอบอุ่นนั้น ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นไข่ จนกระทั่งกลายเป็นผีเสื้อ เป็นเวลาราว 8 สัปดาห์ สำหรับผีเสื้อชนิดที่เจริญเติบโตเร็ว แต่สำหรับผีเสื้อชนิดที่เจริญเติบโตช้า ระยะเวลาของวรจรชีวิตจะนานกว่านี้ และมีผีเสื้อหลายชนิดทีเดียวที่มีวงจรชีวิตเท่ากับระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม ด้วยเหตุนี้ อย่างน้อยระยะใดระยะหนึ่งของมันจะต้องอยู่ในสภาวะ " จำศีล" ในฤดูหนาว ที่เรียกกันว่า hibernation สำหรับในประเทศเขตร้อนนั้น ผีเสื้อบางชนิด บางทีบางระยะหนึ่งของมันอาจต้อง " จำศีล" ในฤดูร้อน ที่เรียกกันว่า aestivation ด้วยระยะไข่

หลังจากผีเสื้อตัวเมียได้รับการผสมพันธุ์จากตัวผู้แล้วสักระยะหนึ่ง ไข่ที่มีอยู่จะได้รับการผสมพร้อมที่จะวางไข่ออกมา ตัวเมียจะเสาะหาพืชอาหารที่เหมาะสมกับตัวหนอน โดยการเกาะลงบริเวณใบพืช ทดสอบโดยการแตะด้วยปลายท้องถ้าไม่ใช่พืชที่ต้องการ ก็จะบินไปเรื่อยๆ จนพบ เมื่อพบแล้วจะค่อยๆ ยืดส่วนท้องลงวางไข่ไว้ใต้ใบ แต่บางชนิดวางไข่ทางด้านหลังใบ ส่วนมากจะวางไข่ฟองเดียว พวกผีเสื้อตัวหนอนกินใบหญ้าจะปล่อยไข่ลงสู่ป่าหญ้าเลย ผีเสื้อกลางคืนที่วางไข่เป็นกลุ่ม บางครั้งมีขนจากลำตัวปกคลุมเอาไว้
ไข่ของผีเสื้อมีรูปร่างและสีแตกต่างกันตามวงศ์ จึงอาจบอกวงศ์ของมันได้โดยการดูจากไข่ ผีเสื้อหนอนกะหล่ำมีไข่รูปร่างเหมือนขวดทรงสูงสีเหลืองหรือสีส้ม ผีเสื้อขาหน้าพู่วางไข่รูปร่างเกือบกลม สีเขียว มีสันพาดตามยาว พวกที่ไข่รูปร่างกลมแบน สีขาว มีจุดดำตรงกลาง ได้แก่ พวกผีเสื้อสีน้ำเงิน จุดดำดังกล่าวเป็นช่องที่เชื้อตัวผู้เข้าผสม เรียกว่า ไมโครไพล์ (micropyle) พวกผีเสื้อบินเร็วมีไข่หลายแบบ อาจจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือกลม โค้ง แบน คล้ายผีเสื้อหางติ่ง แต่ไข่ของผีเสื้อพวกหลังนี้สีเหลือง กลมและมีขนาดใหญ่กว่าผีเสื้ออื่นๆ
ระยะตัวหนอน
ตัวหนอนของผีเสื้อมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามวงศ์และสกุล ส่วนมากไม่มีขนปกคลุมเหมือนหนอนของผีเสื้อกลางคืน ตัวหนอนมีสีสด หรือสีสันกลมกลืนไปกับพืชอาหารอาหารมื้อแรกของตัวหนอนหลังจากฟักออกจากไข่ คือ เปลือกไข่ที่เหลืออยู่ อาจเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอย หรือในเปลือกไข่มีสารบางอย่างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เมื่อออกมาใหม่ๆ มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และลอกกินผิวใบพืชจนเกิดเป็นช่องใส ต่อมาจะค่อยๆ กระจายกันออกไป การกัดกินมักกินจากขอบใบเข้ามาหากลางใบ
รูปร่างของหนอนแตกต่างกันไปมาก คือ หนอนผีเสื้อดอกรัก ตัวมีลายพาดขวางตัวสีเหลืองสลับดำ และมีขนยาวอีก๒-๔ คู่ ส่วนหนอนผีเสื้อสีตาลมีลำตัวยาวเรียวไปทางปลายหัวและปลายหาง มีลายขีดสีน้ำตาลตามยาว คล้ายใบหญ้าหรือใบหมากที่เป็นพืชอาหาร หนอนที่มีหนามยื่นออกรอบตัวเป็นหนอนพวกผีเสื้อขาหน้าพู่ พวกผีเสื้อสีน้ำเงินกินพืชตระกูลถั่วและไม้ผลต่างๆ ตัวหนอนลักษณะกลมๆ พองออกตอนกลางตัว หัวซ่อนอยู่ข้างใต้ตัว
หนอนบางพวกมีการป้องกันอันตรายจากพวกนก และศัตรูอื่นๆ เช่น หนอนของผีเสื้อหางติ่ง มักมีจุดคล้ายดวงตากลมอยู่บริเวณตอนใกล้หัว มันจะพองส่วนนี้ออกเวลามีอันตราย ทำให้จุดดวงตานี้ขยายโตออก และยังมีอวัยวะสีแดงรูปสองแฉกอยู่ด้านหลังของส่วนหัว เรียกว่า ออสมีทีเรียม (osmeterium)อวัยวะขยายออกได้โดยใช้แรงดันของเลือด สามารถส่งกลิ่นเหม็นออกมาใช้ไล่ศัตรูได้ บางพวกก็ชักใยเอาใบไม้ห่อหุ้มตัวไว้หรือเอาวัตถุอื่นๆ ทั้งใบไม้แห้งและมูลของมันมากองรวมกันบังตัวเอาไว้
หนอนของผีเสื้อบางชนิดไม่กินพืช แต่กินอาหารที่แปลกออกไป คือ ผีเสื้อดักแด้หัวลิง (Spalgis epeus) กินพวกเพลี้ยเกล็ด (scale insects) ผีเสื้อหนอนกินเพลี้ย (Miletus chinensis) กินพวกเพลี้ยอ่อน (aphids)ส่วนผีเสื้อมอท (Liphyra brassolis)ตัวหนอนอาศัยอยู่ในรังของมดแดง (Oecophylla smaragdina)และกินตัวอ่อนของมดแดงเป็นอาหาร
ระยะลอกคราบ
          หนอนจะเติบโตขึ้นได้ต้องมีการลอกคราบหลายครั้ง ส่วนมากผีเสื้อจะลอกคราบประมาณ ๔-๕ ครั้ง เหตุที่ต้องลอกคราบ เนื่องจากตัวหนอนมีผนังลำตัวหุ้มห่ออยู่ภายนอก เมื่อเติบโต ขึ้นเรื่อยๆ จะเติบโตคับผนังลำตัวที่ห่ออยู่ กรรมวิธีในการลอกคราบจะเริ่มเมื่อหนอนชักใยยึดลำตัวไว้กับพื้นที่เกาะ ก่อนการลอกคราบราว ๒๔ ชั่วโมง ต่อมาผนังลำตัวจะปริแตกออกทางด้านหลังของหัว หนอนจะค่อยๆ คืบไปข้างหน้าอย่างช้าๆจนหลุดออกจากคราบ ผนังลำตัวใหม่มีสีสดใสกว่าเก่า ตัวหนอนจะดูมีหัวโตกว่าส่วนลำตัว ระยะแรก มันจะอยู่นิ่งราว ๒-๓ชั่วโมง จนกระทั่งผนังลำตัวและส่วนปากแข็งพอที่จะกัดใบพืชอาหารได้ ระยะนี้เป็นระยะที่อันตรายต่อตัวหนอนมาก เนื่องจากมันอยู่ในสภาพที่อ่อนแอป้องกันตัวเองไม่ได้ระยะดักแด้


เมื่อหนอนลอกคราบจนครบ และเติบโตเต็มที่แล้ว จะหยุดกินอาหาร หาที่หลบซ่อนตัวพักอยู่อย่างนั้นสัก ๑๒ ชั่วโมงหรืออาจนานกว่า ระหว่างนี้จะสร้างแผ่นไหมเล็กๆที่ปลายลำตัวเพื่อใช้ขอเล็กๆ เกี่ยวเอาไว้ให้มั่นคง ก่อนลอกคราบครั้งสุดท้ายเป็นดักแด้

หนอนที่จะลอกคราบ จะสูบเอาอากาศเข้าสู่ภายในตัวเกิดรอยปริแตกขึ้นทางด้านหลังของส่วนอก แล้วรอยปริจะแตกเรื่อยไปสู่ปลายลำตัว เมื่อคราบลอกออกไปแล้ว ผิวหนังที่อยู่ภายในอีกชั้นหนึ่งจะห่อหุ้มให้มีรูปร่างเป็นตัวดักแด้ แต่ยังนุ่มและมีสีจาง ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง จึงจะแข็งตัวและสีจะเข้มขึ้น

ลักษณะของดักแด้ผีเสื้อพอจะแยกออกได้เป็น ๓ แบบคือ พวกห้อยหัวลง พวกนี้ใช้ขอเล็กๆ ที่ปลายลำตัวเกี่ยวไว้กับแผ่นไหมเล็กๆ แล้วห้อยหัวลง พบในดักแด้ของผีเสื้อหนอนรักและผีเสื้อขาหน้าพู่ พวกที่สอง นอกจากมีขอเกี่ยวที่ปลายลำตัวแล้ว ยังมีสายใยเล็กรัดรอบตัวช่วยพยุงดักแด้เอาไว้กับที่เกาะได้แก่ ดักแด้ของผีเสื้อหางติ่ง และผีเสื้อหนอนกะหล่ำ พวกสุดท้ายเป็นดักแด้ที่ไม่มีอะไรยึดกับวัตถุที่เกาะ แต่จะวางราบบนพื้นดิน หรืออยู่ในม้วนใบไม้ที่ยึดติดกันเป็นหลอด หรืออยู่ในรังไหม เช่น ดักแด้ของผีเสื้อสีตาลบางชนิด ดักแด้ของผีเสื้อบินเร็ว และดักแด้ของผีเสื้อกลางคืนส่วนมาก

เนื่องจากดักแด้เป็นระยะที่อยู่นิ่ง เกิดอันตรายจากศัตรูได้ง่าย ดักแด้จึงมีสี และรูปร่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม บางชนิดมีรูปร่างคล้ายกิ่งไม้หัก บางชนิดมีลักษณะใบไม้แห้ง การที่หนอนซึ่งดูน่าเกลียดมีหนามและขนปกคลุมตัว กลายสภาพมาเป็นดักแด้ที่อยู่นิ่งเฉย ไม่กินอะไรเลย จึงเป็นเรื่องประหลาดทางธรรมชาติมาก
ระยะตัวเต็มวัย


พอดักแด้มีอายุประมาณ ๗-๑๐ วัน เมื่อใกล้จะออกมาเป็นผีเสื้อ เราจะเห็นสีของปีกผ่านทางผนังลำตัวได้ ผีเสื้อที่โตเต็มที่แล้ว จะใช้ขาดันเอาเปลือกดักแด้ให้แตกออก แล้วดันให้ปริออกทางด้านหลังของส่วนอก ค่อยๆขยับตัวออกมาจนพ้นคราบดักแด้ ส่วนมากมักออกมาโดยการห้อยหัวลง เพื่อใช้แรงดึงดูดของโลกช่วย ตอนออกมาใหม่ๆ ผีเสื้อมีส่วนท้องใหญ่และปีกยู่ยี่เล็กนิดเดียว มันจะคลานไปหาที่เกาะยึด แล้วห้อยปีกทั้งสองลงข้างล่าง ระหว่างนี้มันจะปล่อยของเหลวสีชมพูอ่อนทางปลายส่วนท้อง สารนี้เป็นของเสียที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นดักแด้เรียกว่า มิวโคเนียม (muconium) ผีเสื้อจะดูดเอาอากาศจำนวนมากเข้าไปทางงวงและรูหายใจ แรงดันของอากาศและการหดตัวของกล้ามเนื้อ จะอัดดันให้เลือดไหลไปตามเส้นปีกปีกจึงขยายออกจนโตเต็มที่ การขยายปีกออกนี้กินเวลาประมาณ๒๐ นาที มันต้องผึ่งปีกให้แห้งแข็งดีเสียก่อนราวชั่วโมงครึ่งจึงจะออกบินไปหากินต่อไป



 

18 ความคิดเห็น:

  1. ตัวหนังสือตัวเล็กไปหน่อยจร้า

    ตอบลบ
  2. อ่านไม่ออกคร่า ปรับตัวหนังสือหน่อยนะ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหาน้อยไป การดำรงชีวิตมันมีมากกว่านี้ แล้วตัวหนังสือก็น้อยเกินไปยากต่อการอ่าน

    ตอบลบ
  4. เนื้อหาใช้ได้เรยเรยจร้า

    ตอบลบ
  5. ตัวหนังสือเล็กไป อ่านแล้วปวดตามากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  6. มีสาระดี แต่เนื้อหาน้อยไป ตัวหนังสืออ่านม่ค่อยออก

    ตอบลบ
  7. ตัวหนังสือเล็กไปนะ อ่านไม่ค่อยชัดเลย

    ตอบลบ
  8. ตัวหนังสือเล็กไปนะ

    ตอบลบ
  9. ตัวหนังสือดียากไปนะ

    ตอบลบ
  10. อ่านยากไป มองไม่เห็น

    ตอบลบ
  11. สาระดีจร้าครว ปรับตัวหนังสือนะ

    ตอบลบ
  12. ตัวหนังสือเล็กไปน่ะค่ะ

    ตอบลบ
  13. เนื้อหาดี แต่ปรับตัวอักษรอีกนิดค่ะ

    ตอบลบ
  14. สวยค่ะ เนื้อหาก็ดีค่ะ

    ตอบลบ
  15. เนื้อหาเยอะดี แต่อ่านไม่ออก

    ตอบลบ